Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

TCAS กับวังวนความล้มเหลวของการศึกษาไทย

โดย รุเธียร

TCAS เป็นระบบการรับเข้ามหาวิทยาลัยของไทยซึ่งถูกใช้มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นมา โดยแบ่งการรับนักเรียนเข้าเป็นนิสิตนักศึกษาจำนวน 4 รอบ (อ้างอิงจากปีล่าสุด 2566) ได้แก่รอบแฟ้มสะสมผลงาน โควตา Admission และรับตรงของแต่ละสถาบัน (ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่ารอบเก็บตก) ทั้งนี้ ระบบการรับเข้ามหาวิทยาลัยของไทยมีการเปลี่ยนแปลงตลอดตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา (ในชื่อ Entrance และ Admission ตามลำดับ) ตั้งแต่เนื้อหาที่ใช้สอบยันรูปแบบการสอบ อย่างไรก็ตาม แม้ระบบ TCAS จะถูกจัดวางไว้บนคำประโคมเลิศหรูของการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ในทางปฏิบัติแล้วเราก็ยังคงติดอยู่ในวังวนเดิมไม่รู้จบสิ้นภายใต้สังคมชนชั้นในระบบทุนนิยม

ฐานรากการศึกษาไทยภายใต้ระบบทุนนิยมเป็นการศึกษาแบบฝากธนาคาร นักเรียนเป็นเพียงภาชนะที่ครูจะใส่อะไรลงไปก็ได้ ยิ่งเติมเต็มได้มากก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่านั้น การศึกษาแบบนี้สร้างภาพให้ “คนอยู่ในโลก” ไม่ใช่ “คนอยู่กับโลก” ปัจเจกบุคคลกลายเป็นผู้สังเกตการณ์ไม่ใช่องค์ประธานของการเปลี่ยนแปลง ความรู้กลายเป็นสิ่งที่หยุดนิ่ง แยกแขนงออกเป็นศาสตร์ต่าง ๆ ที่ปราศจากความเชื่อมโยงกัน และละเลยการให้ความสำคัญกับผู้เรียนในฐานะศูนย์กลางที่จะออกแบบการเรียนรู้ตามศักยภาพของตนเอง เพาโล แฟรรี เขียนไว้ในหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” ว่าระบบการศึกษาแบบนี้ “สร้างประโยชน์ให้กับผู้กดขี่มหาศาล เพราะทำลายความสามารถในการคิดได้เองและการออกมาเปลี่ยนแปลงโลกของนักศึกษา ซึ่งนำไปสู่การปกครองคนที่เชื่องและจงรักภักดี และที่แย่ที่สุดนำไปสู่การทำลายความเป็นมนุษย์ของนักศึกษา” เราตกเป็นทาสของชะตากรรมและการดิ้นรนไขว่คว้าในสิ่งที่เราไม่ได้เลือก และปฏิเสธไม่ได้เลยว่าระบบรับเข้าที่ไม่เคยอินังขังขอบผู้เรียนอย่างแท้จริงได้ผลักดันให้กิจการกวดวิชาทวีการสะสมความมั่งคั่งและแทบจะเข้ามาแทนที่การเรียนในโรงเรียน เด็กนักเรียนไม่ว่าจะยากดีมีจนต่างก็ต้องดิ้นรนเข้าไปเรียนพิเศษอย่างเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสทางการศึกษามากกว่าคนอื่น ในขณะที่ในหลายกรณี เด็กอีกจำนวนมากก็ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้เรียนอะไรเลย ยังไม่นับรวมความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างตัวเมืองกับในชนบทซึ่งทำให้แต่ละโรงเรียนเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษาได้ไม่เท่ากันอีก การศึกษาแบบนี้จึงสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนที่ผู้มั่งมีย่อมเข้าถึงโอกาสในการแสวงหาความรู้มากกว่าผู้ยากไร้ไปโดยปริยาย

เราถูกทำให้เชื่อว่าคน “เก่ง” ได้ไปต่อและผู้ถูกสลัดทิ้งออกจากระบบที่บ้าคลั่งคือผู้ที่พยายามไม่มากพอและใช้เสรีภาพทางการศึกษาไปอย่างสูญเปล่า แต่นี่เป็นข้อตำหนิที่ขาดการมองสังคมอย่างเป็นองค์รวม ถ้าความเสมอภาควางอยู่บนฐานของเสรีภาพในโลกเสรีนิยม เพราะปัจเจกชนมีเสรีภาพที่จะ [ถูกบังคับให้] เลือก พวกเขาจึงมีความเสมอภาคเบื้องหน้าผลลัพธ์ที่ตามมา แต่การถูกบังคับให้ตัดสินใจทั้ง ๆ ที่ตัวเราก็ไม่ได้มีคุณสมบัติในเรื่องนั้นมากพอ สิ่งนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นเสรีภาพ ความ ”เก่ง” เป็นทั้งเรื่องของความสามารถและโอกาสทางชนชั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่การศึกษาจะต้องเป็นรัฐสวัสดิการที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนโดยปราศจากเงื่อนไข และโดยไม่ต้องรอให้ชนชั้นปกครองที่มีอันจะกินนั่งวางระบบให้เราอยู่บนหอคอยงาช้าง นักเรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทางการศึกษาทุกคนจะต้องมีบทบาทอย่างแท้จริงในการขีดเขียนอนาคตให้กับตัวเองเพื่อตอบคำถามว่าการศึกษาแบบไหนที่เราอยากได้และโลกแบบไหนที่ดีที่สุดสำหรับเรา


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com