Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

จะปลดแอกบนบ่าของแรงงานสตรีอย่างไร

โดย พัชณีย์ คำหนัก

วันสตรีสากล 8 มีนาคม ที่ผ่านมา องค์กรสังคมนิยมแรงงานเห็นความสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ จึงจัดเสวนาออนไลน์และเชิญนักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีและผู้นำแรงงานสตรีในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาแลกเปลี่ยนการวิเคราะห์ปัญหาการกดขี่สตรีและแนวทางปลดแอกทางเพศ นักสังคมนิยมซึ่งร่วมเสวนา ได้ชักชวนให้ผู้ฟังและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศมองสาเหตุของการกดขี่สตรีด้วยแนวคิดชนชั้นหรือแนวมาร์คซิสม์ เพื่อให้เข้าใจปัญหาการกดขี่ขูดรีดของระบบสังคมชนชั้นนั่นคือ ระบบทุนนิยม และเพื่อชวนให้เปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างด้วย เพราะการเอาเปรียบดูหมิ่นศักดิ์ศรีสตรีเป็นไปเพื่อรองรับให้เกิดการกดขี่ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากแรงงานให้ชนชั้นนายทุนมั่งคั่งและยั่งยืน ซึ่งเราเชื่อว่า แนวคิดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบขจัดปัญหาได้อย่างถอนรากถอนโคนกว่าการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างเพศ คือระบบชายเป็นใหญ่ว่าเป็นสาเหตุของการกดขี่สตรี จนหลงประเด็นว่าผู้หญิงชนชั้นนำและชนชั้นกลางจะช่วยปลดแอกสตรีทุกชนชั้นได้

ชาวสังคมนิยมมองว่า การปลดแอกทางเพศให้สตรีและเพศหลากหลายมีเสรีภาพ เป็นมาตรวัดที่ดีของการปลดแอกแรงงานจากระบบทุนนิยม เห็นได้จากประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติสร้างรัฐสังคมนิยมในอดีตและการก่อกำเนิดวันสตรีสากลเมื่อร้อยกว่าปี ที่ทำให้แรงงานสตรีมีสิทธิเสรีภาพทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีสิทธิเลือกตั้ง สร้างอำนาจต่อรอง ปูทางไว้ให้แรงงานรุ่นต่อมาได้สืบทอดเจตนารมณ์และทำให้ข้อเสนอก้าวหน้ามากขึ้นในสังคมที่ทุนพัฒนาและคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและแรงงานมากขึ้น

แอกบนบ่าของแรงงานสตรีในปัจจุบัน

ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงในชนชั้นแรงงานรุนแรงกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงทุกวัน จากผลสำรวจสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง ปี 2564 ของมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมร่วมกับสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบว่า หญิงไทยถูกล่วงละเมิดจากการถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจ สุขภาพ และสังคม ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน ขณะที่มีผู้หญิงเข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ เฉลี่ยถึงปีละ 30,000 ราย ถือเป็นสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

สถานการณ์การทำงานของแรงงานสตรียังเลวร้าย คือ การล่วงละเมิดทางเพศโดยผู้บังคับบัญชา การขยายเวลาทำงานโอทีมากขึ้นเพราะค่าตอบแทนพื้นฐานต่ำ และการจ้างงานไม่มั่นคง เมื่อแรงงานหญิงตั้งครรภ์ คลอดลูก ก็จำต้องนำลูกไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดเลี้ยงดู ทำให้ลูกขาดความอบอุ่นจากพ่อแม่ หรือการที่แรงงานหญิงลาคลอดไม่ถึงสามเดือน ต้องรีบกลับมาทำงานเพื่อไม่ให้รายได้ขาด เพราะเงินค่าชดเชยลาคลอดไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก หรือกรณีแรงงานหญิงแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องขังลูกไว้ในห้องเช่า ต้องคอยโทรถามว่ามีปัญหาอะไรหรือไม่ เพราะที่ทำงานไม่มีศูนย์เลี้ยงเด็กและไม่มีเงินจ้างพี่เลี้ยง และสามีแทบไม่สามารถลางานไปดูแลลูกและภรรยาที่เพิ่งคลอด ไปจนถึงการกดดันแรงงานที่กำลังตั้งครรภ์ให้ออกจากงาน

ข้อเสนอเพื่อปลดแอกสตรีและครอบครัวของกรรมาชีพ

ข้อเสนอในวันสตรีสากลของขบวนการแรงงานไทยซึ่งกลายเป็นประเด็นผนึกกำลังของทั้งแรงงานชายและหญิง คือ การยุติความรุนแรงต่อสตรี การเคารพสิทธิในร่างกายของผู้หญิง สตรีมีสิทธิทำแท้งเสรี การตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กในสถานที่ทำงาน ห้ามละเมิดสิทธิแรงงานหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ การเพิ่มสวัสดิการลาคลอดและสวัสดิการสำหรับเด็ก ชายต้องมีสิทธิลาดูแลภรรยาที่เพิ่งคลอด 1 เดือน และเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อแก้ปัญหาที่ระบบทุนนิยมกดขี่ขูดรีดแรงงานหญิงและครอบครัวของชนชั้นกรรมาชีพ เพราะนายทุนปัดภาระการสร้างพลังแรงงานของคนรุ่นต่อไปไว้ที่ครอบครัวของกรรมาชีพเพียงลำพัง ในขณะที่ให้วันลาคลอดและสวัสดิการอันน้อยนิด ค่าจ้างที่ต่ำเกินไปจนต้องทำงานล่วงเวลาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้เวลาทำงานทะลุเพดานกฎหมาย 60-70 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งทำให้ไม่มีเวลาเอาใจใส่ดูแลตัวเอง ลูกและพ่อแม่ที่ชราภาพ

เราสามารถบรรจุข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิสตรีข้างต้นไว้ในข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานในการยื่นข้อเรียกร้องกับนายจ้างแต่ละปี ถือเป็นการรณรงค์ในระดับที่ทำงานและชีวิตประจำวัน และเราชาวสังคมนิยมก็คาดหวังว่าแรงงานชายจะพยายามต่อสู้ให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมทางเพศ เนื่องจากเกียรติศักดิ์ศรี สภาพความเป็นอยู่ของแรงงานสตรี และครอบครัวของกรรมาชีพยังขาดการเคารพและไร้อนาคตที่สดใส เท่ากับว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เราอยู่ไม่ให้อนาคตแก่แรงงานสตรีและลูกที่จะเกิดเลย รัฐก็ไม่จริงใจที่บังคับใช้กฎหมายเอาผิดนายจ้างที่ละเมิดสิทธิแรงงาน ซ้ำยังเป่าหูพวกเราตลอดว่า อนาคตสังคมไทยจะขาดแรงงานรุ่นต่อไป และจะเต็มไปด้วยผู้สูงอายุ แต่กลับไม่ใส่ใจที่จะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในปัจจุบัน ไม่แบ่งเบาภาระงานบ้าน งานดูแลคนที่จะเกิดในรุ่นต่อไป ทำให้ประชากรที่อยู่ระดับล่างของปิระมิดขยายมากขึ้น นั่นคือความยากจนกระจายมากขึ้น เห็นได้จากการไร้ระบบการจ้างงานที่ดีของแรงงานแพลตฟอร์มดิจิทัล รับงานอิสระ เช่น แม่บ้าน ไรเดอร์

การผลิตซ้ำทางสังคมป้อนแรงงานรุ่นใหม่ให้ระบบทุนแต่รัฐ/ทุนเลี่ยงที่จะจ่าย

คาร์ล มาร์กซ์ นักสังคมนิยมปฏิวัติชาวเยอรมันได้อธิบายการผลิตซ้ำทางสังคม (social reproduction) หรือการสร้างชีวิตแรงงานรุ่นใหม่ในหนังสือ “ว่าด้วยทุน เล่ม 1” ว่า นายทุนแต่ละคนไม่ได้คำนึงถึงการดูแลและการผลิตซ้ำของชนชั้นแรงงาน ด้านหนึ่ง แรงงานขาดความมั่นคงและไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากไม่ได้รับค่าจ้างทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนอีกด้านหนึ่ง ทุนต้องมั่นใจว่ามีแรงงานสำรองเพียงพอในการผลิต ซึ่งสองด้านนี้สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตซ้ำของแรงงานรุ่นใหม่ กล่าวคือ มาร์กซ์วิเคราะห์ว่า ‘จากการขยายชั่วโมงทำงาน… การผลิตแบบทุนนิยม ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว คือการผลิตมูลค่าส่วนเกิน และดูดกลืนแรงงานส่วนเกิน ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้พลังแรงงานของมนุษย์เสื่อมถอยลง แต่ยังก่อให้เกิดความอ่อนล้าทางร่างกายและจิตใจก่อนเวลาอันควรและเกิดการเสียชีวิตของแรงงานในที่สุด การขยายชั่วโมงการผลิต จึงทำให้อายุขัยของคนงานสั้นลง’ แทนที่จะสร้างศักยภาพให้แก่แรงงานในการผลิตซ้ำหรือสร้างพลังแรงงานให้สามารถทำงานในแต่ละวันได้ ที่แย่กว่านั้นคือ สังคมกำหนดให้ผู้หญิงเป็นผู้มีบทบาทหลักแล้วยังลดเกียรติของพวกเธออีก

ฉะนั้น ชาวกรรมาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับกิจกรรมการผลิตซ้ำทางสังคม ซึ่งคือกิจกรรมการทำอาหาร รักษาสุขภาพ ซักผ้าทำงานบ้าน เลี้ยงเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ อันเป็นกิจกรรมประจำวันในครอบครัว เพราะถือเป็นกิจกรรมที่ดูแลสังคมโดยรวม ดูแลรักษาชีวิตและสร้างอนาคตให้แก่คนส่วนใหญ่ของสังคมที่เป็นแรงงาน ผลักดันข้อเสนอที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของสตรี กดดันนายจ้างให้ทำตามข้อเรียกร้อง สร้างศูนย์เลี้ยงเด็กในที่ทำงาน เพิ่มค่าจ้างสวัสดิการ ลดเวลาทำงานดังข้างต้น อย่าลืมว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระบบทุนนิยมพัฒนาจากระบบศักดินาได้ มาจากการแยกงานนอกบ้านออกจากงานในบ้านและการกำหนดบทบาทเพศชายเพศหญิง โดยให้แรงงานหญิงแบกภาระงานในบ้านที่ไม่ได้ค่าจ้างและงานนอกบ้านที่ได้ค่าจ้างต่ำ

ใครก็ตามที่ต้องปลอบประโลมเด็กหลังทำงานมาอย่างเหน็ดเหนื่อยจากที่ทำงาน หรือกลับมาดูแลพ่อแม่ที่ชราหลังเปลี่ยนกะมาอย่างทรหด จะรู้ดีว่างานที่ถูกมองว่าไม่สำคัญดังกล่าวสำคัญและจำเป็นขนาดไหน ซึ่งหากคำนวณจีดีพีงานในบ้าน คงสูงทีเดียว และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของงานนอกบ้านก็สามารถส่งผลสะเทือนต่องานในบ้าน คือ ค่าจ้างต่ำและการลดค่าใช้จ่ายของทุนเสรีนิยมใหม่ในที่ทำงานสามารถทำให้เกิดปัญหาหนี้สิน การยึดบ้านรถและความรุนแรงในครอบครัวของชาวกรรมาชีพได้ เพราะระบบทุนเชื่อมโยงระหว่างงานนอกบ้านและในบ้านอย่างเป็นหนึ่งเดียว สุดท้าย ในการต่อสู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ เราคงไม่หวังพึ่งสตรีนักบริหาร ชนชั้นกลาง และชนชั้นนำ เพราะนโยบายที่ส่งเสริมสิทธิประโยชน์ของแรงงานสตรีเป็นนโยบายเดียวกันกับการหั่นผลกำไรของนายทุน เก็บภาษีมั่งคั่งจากคนรวยเพื่อมาจัดสวัสดิการฟรีให้แก่พวกเธอและครอบครัว ซึ่งสตรีชนชั้นนั้นคงไม่ปลื้ม


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com