โดย แสงยุทธนา
ขบวนการปฏิวัติในอดีตของไทยอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบกองกำลังติดอาวุธในป่าและมีการจัดตั้งขบวนการมวลชนในชนบทและสหภาพแรงงาน ซึ่งการจัดตั้งของพวกเขาในยุคนั้นไม่มีการรณรงค์หรือการเรียกร้องข้อเสนอสิทธิทางเพศเลยแม้แต่นิดเดียว อีกทั้งสตาลินผู้นำสูงสุดของโซเวียตที่เรียกตัวเองว่านักลัทธิมาร์กซ์ ก็เคยออกกฎหมายในโซเวียตปี 1933 ให้การทำแท้งถือเป็นเรื่องต้องห้าม และในปี 1934 มีการทำให้การรักร่วมเพศเป็นสิ่งผิดกฎหมายในโซเวียต โดยมีโทษจำคุก 3-5 ปี นักสู้เพื่อสิทธิสตรีในยุคปัจจุบันจึงมักจะคิดว่าแนวคิดลัทธิมาร์กซ์เป็นแนวคิดที่หมกมุ่นแต่กับเรื่องการปฏิวัติชนชั้นโดยทิ้งปัญหาทางเพศไปโดยสิ้นเชิง
แต่ความจริงนั้นขบวนการปฏิวัติที่ใช้แนวความคิดแบบลัทธิมาร์กซในอดีตก่อนการขึ้นมามีอำนาจของสตาลินในโซเวียต ก็มีขบวนการที่ชูเรื่องการต่อสู้เพื่อปลดแอกทางเพศไปพร้อมกับการปลดแอกทางชนชั้นเพราะมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน ที่นักปฏิวัติสตรีลัทธิมาร์กซ์นามว่า คารา เซทกิน เป็นหนึ่งในผู้ที่ก่อตั้งวันสตรีสากลเป็นครั้งแรกของโลก ในวันที่ 8 มีนาคม ปี 1909 อีกทั้งทางพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันก็ยังเสนอนโยบายในรูปแบบการปฏิรูปด้วย คือการรณรงค์ให้ทุกคนที่มีความหลากหลายทางเพศ สามารถทำงานและประกาศตนเองได้อย่างเปิดเผยว่าตนเองเป็นเพศอื่นที่ไม่ใช่ ชาย หรือ หญิง เนื่องจากในสมัยนั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศยังถือเป็นสิ่งต้องห้ามและผิดกฎหมายในเยอรมันอยู่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพวกผิดธรรมชาติ ซึ่งทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันในช่วงเวลานั้นถือได้ว่าเป็นพรรคปฏิวัติฝ่ายซ้ายที่เป็นศูนย์รวมของแนวคิดหัวก้าวหน้าที่สุดในเยอรมันยุคนั้น
ฟรีดริช เองเกลส์ สหายร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมอุดมการณ์ของ คาร์ล มาร์กซ์ ได้เคยเขียนถึงประเด็นปัญหาการกดขี่ทางเพศว่าความจริงแล้วปัญหานี้มีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งทางชนชั้น โดยอธิบายว่าครอบครัวในสังคมบุพกาลหลังจากมีการแบ่งหน้าที่การทำงานในชนเผ่า ผู้ชายมีหน้าที่ล่าสัตว์และนำกลับมากินด้วยกันในชนเผ่าเนื่องจากมีกระดูกที่ใหญ่กว่าจึงแข็งแรง ส่วนผู้หญิงมีหน้าที่เลี้ยงลูกและทำงานจัดการทรัพยากรต่างๆ ในที่อยู่อาศัยในชนเผ่า จนกระทั่งเกิดการยึดทรัพยากรให้มาถือครองโดยผู้ชายที่มีอาวุธล่าสัตว์และเป็นผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยการผลิต เนื่องจากเกิดผลผลิตส่วนเกินขึ้นในเผ่า
หลังจากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือมีการสืบทอดมรดกทางสายเลือดเกิดขึ้น มีระบบผัวเดียวเมียเดียว(แต่ความจริงคือระบบผัวเดียวหลายเมีย) เพื่อที่จะทราบได้ว่าเด็กที่เกิดมามีใครเป็นพ่อ ซึ่งระบบก่อนหน้านั้นที่เป็นการสมรสหมู่จะรู้เพียงว่าใครเป็นแม่ เพื่อให้กรรมสิทธิ์ส่วนตัวที่ถือครองโดยชายที่ยึดปัจจัยการผลิตมาเป็นของส่วนตัวมีความศักสิทธิ์ จึงเกิดการสมรสที่มีพ่อที่แน่นอน
ถึงแม้ในโซเวียตยุคสตาลินที่มีการออกกฎหมายต่อต้านสิทธิทางเพศ ห้ามการรักเพศเดียวกันและการทำแท้งของสตรี มีการขูดรีดแรงงานอย่างเข้มข้น เพื่อสะสมทุนแข่งขันกับประเทศทุนนิยมตะวันตก จึงมีการขูดรีดแรงงานเข้มข้น แต่นั่นก็ไม่ใช่รัฐสังคมนิยม เนื่องจากถูกสตาลินทำลายไปหลังการปฏิวัติซ้อนโดยข้าราชการแดง
“โซเวียตยุคนั้นมีการใช้โฆษณาชวนเชื่อสนับสนุนการมีบทบาทผู้หญิงในฐานะคนงานและผู้เป็นแม่ เพื่อคนงานในระบบเพิ่มมากขึ้นในยุคนั้น” (Caimiao Lui, 2019)
นักลัทธิมาร์กซ์จะสนับสนุนขบวนการต่อสู้สิทธิทางเพศทุกรูปแบบ เพราะว่าการกดขี่ทางเพศและการกดขี่อื่นๆ ไม่ว่าเป็นปัญหาชาวนายากจน ปัญหาการกดขี่ในจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาโรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อมปัญหากรรมาชีพ ล้วนมาจากปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้น ที่รัฐทุนนิยมกระทำต่อกรรมาชีพ คนจน ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป การต่อสู้เพื่อการปลดปล่อยเรื่องต่างๆ ไม่สามารถกระทำแยกส่วนกันได้ ต้องร่วมมือกันล้มรัฐทุนนิยม และสร้างรัฐสังคมนิยมในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อสร้างเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงในทุกมิติ
ถ้าจะปลดสิทธิสตรีสิทธิทางเพศ คนงานหญิงจะต้องร่วมมือกับคนงานชายในรั้วโรงงานเดียวกัน จะต้องร่วมมือกับคนงานอื่นๆ นอกรั้วโรงงาน จะต้องร่วมมือกับชาวนายากจน ทั้งชาย ทั้งหญิง ทั้งเพศอื่นๆ
ตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นในเรื่องนี้คือ การปฏิวัติรัสเซีย 1917 ที่นำโดยพรรคบอลชิค ที่มีอเล็กซานดร้า คอลอนไท เป็นผู้นำคนหนึ่งที่มีบทบาทสูงในการผลักดันสิทธิต่างๆ ที่ก้าวหน้าของสตรีอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงมีสิทธิ์เลือกตั้งแห่งแรกของโลก มีโรงอาหาร โรงซัก และสถานเลี้ยงเล็ก เพื่อแบ่งเบาภาระสตรี สตรีมีสิทธิ์ทำแท้ง เพื่อเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายตนเอง การหย่าร้าง ที่เป็นอุปสรรคในเสรีภาพของสตรีถูกทำให้ง่าย
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6