Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สิทธิในการเข้าถึงการการุณยฆาตในแคนาดาเป็นความก้าวหน้าของสังคมหรือความรุนแรงของระบบทุนนิยม

โดย แพรพลอย

เมื่อ 4 ปีก่อนเรื่องราวของชาวไทยคนหนึ่งที่ป่วยเป็นเนื้องอกในสมองมานานถึง 10 ปีจนท้ายที่สุดแล้วตัดสินใจเข้ารับการการุณยฆาตหรือการขอฆ่าตัวตายอย่างถูกกฎหมายในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ถูกเผยแพร่บนโลกอินเตอร์เน็ตและได้สร้างการถกเถียงภายในสังคมไทยถึงเรื่อง “สิทธิในการตาย” ที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกระแสการตื่นตัวทางการเมืองและสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา บางคอมเมนต์กล่าวว่า “เราก็คาดหวังว่า ณ จุดหนึ่งของชีวิต เราจะได้มีสิทธิเลือกได้แบบนี้ค่ะ” หรือ “เราเลือกที่จะเกิดไม่ได้ แต่อยากขอให้เราเลือกที่จะตายได้บ้าง”

แน่นอนว่าทุกคนเลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนเลือกตายได้เช่นกันในโลกทุนนิยม สวิสเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองลงมาจากประเทศโมนาโกและหมู่เกาะเคย์แมน การขอทำการุณยฆาตในสวิสเซอร์แลนด์ไม่ฟรีและมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 7,000-11,000 ยูโรหรือ 257,000-404,000 บาท ซึ่งราคานี้ไม่รวมค่าเดินทาง สำหรับแรงงานไทยที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 328 ถึง 354 บาทต่อวัน การไปทำการุณยฆาตที่สวิสอาจเป็นเรื่องที่ใครหลายคนไม่กล้าแม้แต่จะฝัน ดังนั้นในระบบนี้คนที่เลือกตายจึงมีแต่คนรวย

ในปี 2016 แคนาดาได้กลายเป็นอีกหนึ่งประเทศที่การทำการุณยฆาตถูกกฎหมาย หรือเป็นที่รู้จักในนามโครงการ MAiD (Medical Assistance in Dying) สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปและมีอาการป่วยใกล้เสียชีวิต และในปี 2021 รัฐบาลแคนาดาได้ปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้เพิ่มเติม โดยอนุญาตให้ผู้ที่ไม่ได้มีอาการป่วยใกล้เสียชีวิต แต่เป็นผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้สามารถเข้าถึงสิทธิตรงนี้ได้ กฎหมายฉบับนี้ทำให้ชาวแคนาดาไม่ว่าจะรวยหรือจนสามารถเข้าถึงสิทธิในการตายได้ และปัจจุบันรัฐบาลกำลังเดินหน้าปรับปรุงกฎหมายต่อโดยจะมีการอนุญาตให้ผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตสามารถเข้าถึงสิทธิได้ด้วย

หลายคนอาจมองแคนาดาเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ แต่ทว่าประเด็นนี้อาจพูดได้ไม่เต็มปากอีกต่อไป หลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลเสรีนิยมของแคนาดาได้ปรับใช้มาตรการรัดเข็มขัด ตัดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาล และงบสาธารณสุขก็เป็นหนึ่งในงบประมาณที่โดนหั่นทิ้ง ทำให้การรักษาพยาบาลมีราคาแพงและเข้าถึงได้ยาก ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของแคนาดากำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์น้อย ทำให้คนไข้ต้องรอคิวรับการรักษาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งในปี 2005 รัฐบาลแคนาดาได้ออกกฎหมายกำหนดให้การรอคิวเข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลานานเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ตามการรายงานของสำนักข่าวบีบีซี หลังกฎหมายการุณยฆาตมีผลใช้ในปี 2016 ในปีนั้นเพียงปีเดียวมีผู้เข้าใช้สิทธิมากถึง 1,000 คน และในปี 2021 มีจำนวนผู้ใช้สิทธิเพิ่มขึ้นมากถึง 10,064 คน ซึ่งนับเป็น 3.3% ของสาเหตุการเสียชีวิตของชาวแคนาดาในปีนั้น

จากคำให้การที่ถูกเผยแพร่บนเว็บไซต์สภาสามัญชนแคนาดา (House of Commons of Canada) นายโรเจอร์ โฟลีย์ ชายวัย 45 ปีที่ป่วยเป็นโรคสูญเสียการทรงตัว (Spinocerebellar ataxia) มาตั้งแต่เกิดซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ารับบริการการุณยฆาตของรัฐบาลแคนาดาให้การว่า ก่อนอาการจะทรุดหนักลงจนไม่สามารถเดินได้ นายโฟลีย์สามารถเรียนจบมหาวิทยาลัยจนมีใบปริญญาถึง 2 ใบ ได้แก่ ใบปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ เคยทำงานให้กับธนาคารรอยัลแบงค์ออฟแคนาดา (Royal Bank of Canada) และเป็นผู้ดูแลพ่อที่ป่วยเป็นมะเร็งจนเสียชีวิต แต่หลังจากที่อาการทรุดหนักลงจนไม่สามารถช่วยตัวเองได้ นายโฟลีย์ยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อและได้ร้องขอผู้ดูแลจากรัฐบาล แต่โรงพยาบาลกลับข่มขู่ว่า ราคาค่าบริการของพยาบาลที่จะเป็นผู้ดูแลสูงถึง 1,800 ดอลลาร์แคนาดาหรือราว 45,000 บาทต่อวันและเสนอให้นายโฟลีย์เข้ารับบริการการุณยฆาตจากรัฐบาลแทน ซึ่งนั่นทำให้เขารู้สึกว่าโดนบีบบังคับให้เข้ารับบริการการุณฆาตจากรัฐแทนการบรรเทาความทุกข์และการดูแลอย่างมีเกียรติในฐานะมนุษย์ นอกจากนี้ ยังมีกรณีของนางสาวโซเฟียวัย 51 ปี ผู้ป่วยเป็นโรคแพ้สารเคมีชนิดรุนแรง อาการป่วยทำให้เธอจำเป็นต้องหาบ้านที่มีราคาถูก ปลอดสารเคมีและควันบุหรี่ในกรุงโตรอนโต แต่สุดท้ายแล้วเธอตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงกับโครงการ MAiD เนื่องจากไม่สามารถหาบ้านที่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวได้

ปัจจุบันกว่า 40% ของผู้พิการชาวแคนาดามีชีวิตอยู่ใต้เส้นความเหลื่อมล้ำ ในเมืองออนโตริโอที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในแคนาดา รัฐบาลให้เงินช่วยผู้พิการอยู่ที่ 1,228 ดอลลาร์แคนาดาต่อเดือน ในขณะที่ค่าเช่าบ้านโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2,500 ดอลลาร์แคนาดาต่อเดือน กว่า 36% ของผู้พิการชาวแคนาดาต้องกลายเป็นคนตกงานทันทีหลังโควิด 19 ระบาดและถูกปฏิเสธการขอเข้ารับเงินในโครงการ CERB โครงการให้เงินช่วยเหลือจำนวน 2,000 ดอลลาร์แคนาดาต่อเดือนกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนเงินที่มากกว่าเงินที่ผู้พิการได้รับจากโครงการช่วยเหลือผู้พิการ นอกจากนี้ เว็บไซต์ของสำนักงบประมาณประจำรัฐสภาของแคนาดา (Office of the Parliamentary Budget Officer) ได้เผยแพร่รายงานที่แสดงให้เห็นว่าโครงการ MAiD ที่อนุญาตให้ชาวแคนาดาสามารถเข้ารับการการุณยฆาตได้ฟรีสามารถช่วยรัฐบาลลดต้นทุนได้ 86.9 ล้านดอลลาร์แคนาดาต่อปี โดยในรายงานใช้คำว่า “ต้นทุนที่ลดได้สุทธิ” (net cost reduction) กับความตายของคนจน ปัจจุบันรัฐบาลแคนาดาได้ตัดสินใจชะลอการขยายสิทธิการเข้าถึงการการุณยฆาตของรัฐในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตไปเป็นปี 2024 หลังได้รับแรงกดดันจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวทย์และการแพทย์

เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจงบประมาณของรัฐ เช่น งบสาธารณสุข เป็นหนึ่งในสิ่งแรก ๆ ที่รัฐบาลเสรีนิยมจะเลือกตัดเพื่อลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลเพราะทำได้ง่ายและใช้งบประมาณไม่มาก เหมือนที่รัฐบาลฝรั่งเศสของนายเอ็มมานูเอล มาครงกำลังผลักการปฏิรูประบบเกษียณในขณะนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการรัดเข็มที่ปรับใช้กับชนชั้นแรงงาน โดยอ้างว่ารัฐบาลต้องปรับลดค่าใช้จ่าย แทนการเก็บภาษีกับคนรวยที่มีรายได้เพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดที่ผ่านมา โครงการ MAiD หรือโครงการฆ่าคนจนของรัฐบาลแคนาดาถูกโฆษณาว่าเป็น “ความก้าวหน้าทางสังคม” หรือ “ความเมตตาจากรัฐ” แต่ถ้าความตายเข้าถึงง่ายกว่าการมีชีวิตอยู่เช่นนี้ จะสามารถเรียกได้ว่าเป็น “ความก้าวหน้าทางสังคม” ได้จริงหรือ

สำหรับนักสังคมนิยม เราไม่ได้ต่อต้านการการุณฆาต หากนั่นเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานกับโรคร้ายเป็นระยะเวลายาวนาน แต่ตราบใดที่ผู้พิการถูกปฏิเสธไม่ให้มีชีวิตอย่างมีเกียรติเมื่อต้องการ โครงการการุณยฆาตเช่นนี้จึงถือเป็นความรุนแรงจากรัฐบาลเสรีนิยมและถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการและคนจน วิธีการเดียวที่จะรับประกันว่าสิทธิในการตายไม่ได้มาจากการสูญเสียสิทธิในการมีชีวิตคือ การมีระบบรักษาพยาบาลฟรีที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลตั้งแต่การเจ็บป่วยทางร่างกายไปจนถึงการเจ็บป่วยทางจิต และมีรายได้มาจากการเก็บภาษีคนรวย วิกฤตในระบบทุนนิยมได้แสดงให้เห็นถึงความไร้สามารถของระบบในการตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของสังคม มีเพียงแค่ระบอบสังคมนิยมเท่านั้นที่จะสามารถตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของทุกคนไม่ใช่แค่ของนายทุนผู้ร่ำรวยและเห็นแก่ตัวไม่กี่คน


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com