Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

สภามวลชนปกป้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

โดย กองบรรณาธิการ

ท่ามกลางการหาเสียงของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ได้ให้ความหวังกำลังใจแก่ผู้คน ถึงแม้ทั้งสองพรรคจะแข่งขันกัน แต่นโยบายจำนวนไม่น้อยมีประโยชน์กับคนจน ทั้งพรรคเพื่อไทย เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, การพักหนี้เกษตรกร 3 ปี ทั้งต้น ทั้งดอก, รถไฟฟ้ากทม. 20 บาทตลอดสาย, ทุกครอบครัวมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาท/เดือน และพรรคก้าวไกล เช่น บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาท/เดือน, ค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาททันทีและเพิ่มทุกปี, ปรับปรุงสภาพการจ้างงานบุคลากรทางการแพทย์, ผลักดันการลงนามอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87/98 เป็นต้น

พรรคทั้งสองยังมีนโยบายการแก้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูประบบยุติธรรม นำกองทัพออกจากการเมือง แต่ความฝันนี้จะดำเนินไปจริงได้มากน้อยแค่ไหน และการเดินเข้าคูหาไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวจะนำพาผู้คนไปถึงฝั่งที่ฝันไว้ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นคำถามที่ผู้รักประชาธิปไตยจะช่วยกันหาคำตอบ

แต่หากทบทวนบทเรียนในอดีต พรรคไทยรักไทยชนะเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 เป็นพรรคที่เน้นใช้นโยบายหาเสียงและพยายามทำตามนโยบายหลังเลือกตั้ง เช่น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, พักหนี้เกษตรกร 2 ปี, แต่ก็ถูกรัฐประหารในปี 2549 ท่ามกลางการสนับสนุนของขบวนการฝ่ายขวาในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและในปี 2554 พรรคไทยรักไทยก็ถูกคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค

พรรคพลังประชาชน ที่อดีตพรรคไทยรักไทยได้ย้ายมาพรรคนี้หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ชนะเลือกตั้งปี 2550 แต่ก็ถูกตัดสินคณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคเมื่อปี 2551 จากนั้นพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งปี 2554 เพราะมีนโยบายที่โดดเด่นตอนนั้นคือ โครงการรับจำนำข้าว, เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท, และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน แต่ก็ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ได้รับการสนับสนุนจากขบวนการมวลชนฝ่ายขวาในนามของขบวนการ กปปส.ที่นำโดยนักการเมืองอดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์หลายคน

พรรคอนาคตใหม่ พรรคที่ถูกตั้งขึ้นโดยนักกิจกรรมประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ที่หลายคนมีส่วนในการต่อต้านรัฐประหารปี 2549 ตั้งแต่แรก มีนโยบายเผชิญหน้ากับเผด็จการทหารและเครือข่ายมากกว่าพรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองใหม่ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างมากในระยะเวลาสั้นๆ โดยได้คะแนนเสียงสูงถึง 6 ล้านเสียง และได้จำนวน ส.ส. ถึง 81 คน แต่ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคในปี 2563

นี่เป็นตัวอย่างตลอดหลายปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก และมีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับคนจนถูกยุบ รัฐบาลของพรรคเหล่านี้ถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ด้วยการสนับสนุนจากการปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวา พรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรอบนี้หากชนะเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายที่ให้ประโยชน์คนจน และลดทอนผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ข้าราชการอนุรักษ์นิยม นายทุนขนาดใหญ่

บทเรียนจากไทยและสากล การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการก็จะมีแต่ขบวนการมวลชนเท่านั้นที่จะต้านทานได้ โดยเฉพาะบทบาทของขบวนการคนหนุ่มสาว ขบวนการแรงงาน และขบวนการชาวนายากจน แต่จำเป็นที่จะสร้างล่วงหน้า โดยการสร้างความร่วมมือกันในระดับฐานรากของมวลชนในลักษณะโครงสร้างประชาธิปไตย เช่นรูปแบบคณะกรรมการประสานงาน รูปแบบสภามวลชน เพื่อปรึกษาหารือวางแผนร่วมกัน ในการปกป้องประชาธิปไตย และต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด เช่น ยกเลิก 112, ปิดสวิตช์ส.ว., รัฐสวัสดิการ, เสรีภาพในการรวมตัว ฯลฯ


ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com