โดย แพรพลอย
ในช่วงเดือนเมษายน ภูมิภาคเอเชีย ตั้งแต่ จีน อินเดีย ไทย ลาว เป็นต้น ต่างประสบปัญหาคลื่นความร้อนอันมีสาเหตุจากวิกฤตโลกร้อน โดยเฉพาะที่อินเดียมีคนตายจากอาการฮีทสโตรคถึง 13 คนในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน ส่วนประเทศไทยมีรายงานข่าวพลเมืองเสียชีวิตด้วยภาวะฮีทสโตรกเช่นกัน กรมควบคุมโรครายงานว่า ภายใน 7 ปีที่ผ่านมาภาวะฮีทสโตรกได้คร่าชีวิตคนไทยไป 234 คนหรือ 33 คนต่อปี และมีผู้ป่วยเฉลี่ย 2,500-3,000 คนต่อปี
ฮีทสโตรคเป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดจากความร้อนอย่างหนึ่งที่อันตรายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียกลไกการปรับระดับอุณหภูมิในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากเกินไปจนทำให้ระบบอวัยวะภายในร่างกาย เช่น สมอง หัวใจ กล้ามเนื้อ เสียหายและไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ เกิดความดันตก หัวใจวาย ปวดบวมน้ำ ไตวาย และเสียชีวิตได้ในที่สุดหากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที
แม้ว่ารัฐบาลแทบจะทั้งโลก ต่างพยายามบอกว่าต้องลดโลกร้อนให้ได้ แต่ในทางกลับกันปรากฎว่า ทุกประเทศบนโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามอายุของระบบทุนนิยม ในปี 2019 ที่การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกที่จัดขึ้น ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ต้องเปลี่ยนเวลาการแข่งขันวิ่งมาราธอนชายไปเป็นตอนเที่ยงคืนเพื่อหลีกหนีคลื่นความร้อน และการแข่งขันวิ่งมาราธอนหญิงไม่สามารถเริ่มต้นได้จนกว่าอุณหภูมิภายในสนามกีฬาจะอยู่ที่ 32.7 องศาเซลเซียสและความชื้นในอากาศจะอยู่ที่ 73.3% ถึงกระนั้นมีเพียงผู้เข้าแข่งขันจำนวน 40 คนจาก 68 คนเท่านั้นที่สามารถวิ่งไปถึงเส้นชัยได้ แต่คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากภาวะคลื่นความร้อนนี้คงหนีไม่พ้นคนจนหรือคนงานในการ์ตาที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ดังรายงานของสำนักข่าวเดอะการ์เดียน คนงานชายที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปีเสียชีวิตจากการทำงานกลางแจ้งโดยเฉลี่ยปีละหลายร้อยคน โดยรัฐบาลการ์ตาได้ระบุสาเหตุการเสียชีวิตของคนงานเหล่านี้ว่า “หัวใจวาย” หรือ “เสียชีวิตด้วยวิธีตามธรรมชาติ” (Natural death) เมื่อปี 2019 งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารหัวใจวิทยาเปิดเผยว่า โรคลมแดดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนงานชาวเนปาลที่ทำงานในการ์ตาจำนวน 1,300 คนตั้งแต่ปี 2009-2017 นอกจากนี้ เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2021 ภายในเดือนนี้เพียงเดือนเดียวคลื่นความร้อนได้คร่าชีวิตชาวแคนาดาไปถึง 500 คนหลังอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 50 องศาเซลเซียส
เมื่อปี 2022 คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ GIEC เปิดเผยว่าในช่วงปี 2011-2020 อุณหภูมิบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงปี 1850-1900 และจะแตะ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2030 ซึ่งรายงานนี้แสดงให้เห็นว่าการประชุม COP หรือการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดมาร่วม 27 ปีและกำลังจะเข้าปีที่ 28 ในปีนี้ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว แม้อุณหภูมิในปัจจุบันจะยังไม่ถึง 1.5 องศาเซลเซียส แต่เราก็ได้เห็นความแปรปรวนและวิปริตของสภาพอากาศ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งรุนแรงในบราซิลและอาร์เจนตินา ไฟป่ารุนแรงที่ควบคุมได้ยากในตุรกี กรีซ ตุนีเซีย และอเมริกา และน้ำท่วมรุนแรงในเยอรมนี ปากีสถาน หรือแม้กระทั่งในกรุงเทพที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ออกมายอมรับว่า กรุงเทพได้รับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน
แล้วใครเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน? ในโลกที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ เรามีความรับผิดชอบต่อวิกฤตนี้อย่างเท่าเทียมกันจริงหรือ? ในปี 2017 บิล เกตส์ มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟต์ที่พักหลังได้ออกมาพูดถึงปัญหาโลกร้อนเพิ่มมากขึ้น และเขียนหนังสือ “วิธีหลีกเลี่ยงภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ” (How to Avoid a Climate Disaster) ในปีนั้น มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากถึง 1,600 ตัน จากการใช้เครื่องบิน 59 ครั้ง โดยคิดเป็นจำนวนระยะทาง 343,500 กิโลเมตร ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่เทียบเท่ากับแก๊สเรือนกระจกที่คนอเมริกา 105 คน ปล่อยโดยเฉลี่ยต่อปี ในปี 2022 อ็อกแฟม (Oxfam) รายงานว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันที่สร้างมลพิษของมหาเศรษฐีจำนวน 125 คนเป็นสาเหตุของการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 393 ล้านตันต่อปี หรือโดยเฉลี่ย 3 ล้านตันต่อมหาเศรษฐีหนึ่งคนต่อปี ในขณะที่โดยเฉลี่ยแล้วคนจนจำนวน 90% ของประชากรโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 2.76 ตันต่อคนจนหนึ่งคนต่อปี ดังนั้นในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนจึงหลีกหนีการพูดถึงปัญหาความขัดแย้งทางชนชั้นและระบบทุนนิยมที่เป็นต้นตอไม่ได้ มาร์กซ์มองเห็นถึงความไม่ลงรอยกันระหว่างระบบทุนนิยมกับการผลิตแบบยั่งยืน และอธิบายว่าระบบทุนนิยมสร้างความแตกร้าวของกระบวนการดำรงชีวิต (Metabolic Rift) หรือการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทุนนิยมสร้างความห่างเหินระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ทั้ง ๆ ที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องรักษาธรรมชาติเอาไว้หากไม่อยากตาย
หลังประเด็นโลกร้อนมีการพูดถึงอย่างร้อนแรงมาอยู่หลายปี เราได้เห็นปฏิกิริยาต่อประเด็นนี้อยู่ 2 แบบ ได้แก่ คนกลุ่มแรกคือกลุ่มคนที่ปฏิเสธไม่เชื่อว่าภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นจริงเช่น นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีอเมริกา หรือนายฌาอีร์ โบลโซนาโร อดีตประธานาธิบดีบราซิล และกลุ่มคนที่สนับสนุน “ทุนนิยมสีเขียว” (Green Capitalism) หรือการเมืองปกป้องผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนที่อ้างว่าทุนนิยมที่เป็นต้นตอของปัญหาโลกร้อนจะสามารถเปลี่ยนเป็นทุนนิยมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ เช่น นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกาคนปัจจุบันที่สัญญาว่าจะผลักดันแผนปฏิรูปเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหรือ Green New Deal ขณะเดียวในกันช่วง 6 เดือนแรกหลังการเลือกตั้งก็อนุมัติให้มีโครงการค้นหาแหล่งน้ำมันใหม่ 2,000 โครงการ และกดดันให้โอเป็ก (OPEC) เพิ่มผลผลิตน้ำมัน หรือนายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบายเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจากการที่รัฐเสรีนิยมสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ส่วนตัวพลังงานไฟฟ้าแทนการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ฟรีและมีประสิทธิภาพ
เราไม่สามารถหวังพึ่งทุนนิยมว่าวันหนึ่งจะกลายเป็นทุนนิยมที่ดีขึ้นได้ ในช่วงเวลาที่ภาวะโลกร้อนกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักกับชนชั้นแรงงาน และชนชั้นนายทุนก็แสดงให้เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าผลกำไรเป็นสิ่งเดียวที่สนใจ ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ชนชั้นแรงงานหรือผู้ถูกกดขี่ทั่วโลกต้องรวมตัวกันเพื่อทำลายระบบที่เป็นต้นตอของปัญหานี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชนชั้นแรงงานในหลายประเทศได้แสดงให้เห็นถึงพลังในการต่อสู้กับระบบทุนนิยมยังมีอยู่ เช่น การเข้ายึดอู่ต่อเรือฮาร์แลนด์แอนด์วูฟฟ์ (Harland and Wolff) อู่ที่สร้างเรือไททานิกในเมืองเบลฟาสต์ สหราชอาณาจักร เมื่อปี 2019 ของคนงาน หลังบริษัทประกาศล้มละลาย โดยคนงานได้เรียกร้องให้รัฐบาลทำให้กิจการนี้กลายเป็นของรัฐเพื่อรักษางานในประเทศเอาไว้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้สร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่ม หรือโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทโททอลเอเนจี้ (TotalEnergies) ในเมือง Grandpuits ประเทศฝรั่งเศสที่เมื่อปี 2021 คนงานจับมือกับนักสิ่งแวดล้อมประท้วงนัดหยุดงานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทสร้างงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่ม หรือบริษัทมาดีกราฟ (Madygraf) ในประเทศอาร์เจนตินาที่คนงานได้
เข้ายึดโรงงานและเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2014 หลังบริษัทนายทุนข้ามชาติดอนเนอรี (Donneley) ตัดสินใจปิดบริษัทดังกล่าวและไล่พนักงานทุกคนออก โดยคนงานได้เปลี่ยนกระบวนการผลิตใหม่เพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามคำแนะนำของนักสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ในช่วงโควิดที่ผ่านมา บริษัทมาดีกราฟยังได้ผลิตและแจกจ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เจลล้างมือหรือหน้ากากอนามัยฟรีให้แก่ชาวอาร์เจนตินา ประสบการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการรวมตัวกันระหว่างคนงาน เยาวชน และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสามารถเกิดขึ้นได้และสามารถพัฒนาเพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายที่มีขนาดใหญ่อย่างการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจได้
ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก https://forms.gle/2apcTWX7sB9YCVhU6