แปลโดย ทาเคโอะ ยูกิ
ชนชั้นปกครองได้วางขนบว่าด้วยเรื่อง “ศีลธรรมอันดี” ให้เราเดินตาม ในขณะที่พวกเขาไม่ได้ดำเนินตามกรอบเหล่านี้แม้แต่น้อย แซม ออร์ด จะมาขยายความว่า ศีลธรรมคืออะไรสำหรับชนชั้นแรงงาน ด้วยข้อจำกัดของหน้ากระดาษผู้แปลจะขอทยอยลงเป็นสองตอน เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่านักลัทธิมาร์กซ์มองศีลธรรมอย่างไร
เราทุกคนต่างเคยได้เห็นพาดหัวข่าวกระแสหลักที่ออกมาโจมตีขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนอย่างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือกลุ่ม Black Lives Matter ว่า “ไร้ศีลธรรม” และ “เห็นแก่ตัว” พิธีกรรายการข่าวเช้า Good Morning Britain นายริชาร์ด มาเดอลีย์บอกว่าการที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม Insulate Britain ออกมาเดินขบวนนั้นเป็นเรื่อง “ทุเรศ”
กลุ่มแรงงานทั้งผู้ลี้ภัย และประชาชนชนชั้นกรรมาชีพ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มที่ถูกยอมรับ และกลุ่มทีไม่ถูกยอมรับในสังคม ซึ่งกลุ่มหลังก็จะถูกตีตราว่าเป็นพวกเหลือขอ แต่ในขณะเดียวกันไม่มีใครตั้งคำถามทางศีลธรรมกับพวกมหาเศรษฐีที่อยู่สุขสบายท่ามกลางวิกฤตสภาพอากาศ ( climate change) ที่ทำให้คนนับพันล้านต้องประสบความลำบากโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศซีกโลกใต้ และไม่มีใครมองถึงการที่พวกเขาเลี่ยงภาษี เล่นพรรคเล่นพวกกับพวกเศรษฐีด้วยกันเพื่อใช้อำนาจเหนือรัฐว่าเป็นเรื่องผิดศีลธรรม
20 ปีที่ผ่านมา หลังจากกองทัพอังกฤษบุกเข้าชายแดนของอัฟกานิสถานได้ไม่นาน โทนี่ แบลร์ นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นได้สั่งการให้มีปฏิบัติการทิ้งระเบิด และกล่าวว่าเขาทำไปเพราะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง “ตามหลักศีลธรรม” โดยอ้างว่าปฏิบัติการนี้ก็เพื่อทำให้เด็กและสตรีเป็นอิสระจากกองกำลังมุสลิมหัวรุนแรง
ผิดศีลธรรม??? นักเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและนักสังคมนิยมแย้งว่าการนำกองทัพบุกเข้าอัฟกานิสฐาน และการเข่นฆ่าทั้งประชาชนและกองกำลังนับแสนๆชิวิตนั้น เป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรมโดยสิ้นเชิง กลายเป็นว่า ถูกหรือผิดศีลธรรมนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ฝั่งไหนในการต่อสู้ทางชนชั้น นักปฏิวัติชาวรัสเซีย ลีออน ทรอตสกี้ ได้ตั้งคำถามถึงประเด็น “ศีลธรรม” ในประกาศของเขาที่มีชื่อว่า “ศีลธรรมของพวกเขาและของพวกเรา” เขากล่าวว่าศีลธรรมหรือจริยธรรมนั้น เปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขในผลประโยชน์และโครงสร้างของระบบชนชั้นทางเศรษฐกิจสังคม พวกชนชั้นปกครองพยายามที่จะยัดเยียดขนบเรื่องศีลธรรมเพื่อจำกัดขอบเขตการกระทำของชนชั้นกรรมาชีพ และบังคับให้ยอมจำนนต่อการขูดรีดโดยไม่ต่อต้านด้วยวิธีใดๆ
พวกชนชั้นสูงเล่นแร่แปรธาตุกับระบบการศึกษาและสื่อ ไปจนถึงสถาบันศาสนาเพื่อบรรจงปั้นภาพลักษณ์ของ “พลเมืองดี” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ครอบครัวที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง” ซึ่งเป็นวลีโปรดของนักการเมือง วางเส้นทางให้พลเมืองเหล่านั้นทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขสบายในการบริโภค และแข่งขันกันเพื่อให้ได้แต้มต่อ คะแนน ลาภยศ สรรเสริญมาตั้งแต่วัยเยาว์ ผ่านระบบการสอบ การให้เกรด ไปจนถึงเส้นทางอาชีพที่กำหนดไว้อย่างตายตัว
ที่สำคัญคือเหล่าคนงานกรรมาชีพที่หวังเติบโตในระบบทุนนิยมต้องไม่ก่อปัญหา และยอมกลายร่างเป็นกลไกส่วนหนึ่งของเครื่องจักรเพื่อสร้างผลกำไรชั้นดี
ส่วน “ศีลธรรม” ของชนชั้นปกครอง อนุญาตให้พวกเขาสามารถแข่งขัน และทำลายคู่แข่งทางธุรกิจ แทรกแซงทางการเมือง หรือทำสงครามเพื่อแย่งชิงผลประโยชน์ได้ตามใจชอบ ทรอตสกี้กล่าวว่า ระบบทุนนิยมจะดำรงอยู่ยาวนานไม่ได้เลย หากไม่มีโครงสร้างของ “ศีลธรรม” อันเป็นหลักนามธรรมเช่นนี้
“ศีลธรรม” ยังเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นปกครอง สามารถยับยั้งและสลายขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนที่ขัดต่อผลประโยชน์ และเป้าหมายของพวกเขาได้ ในปี 2020 กลุ่ม Black Lives Matter ออกมาโจมตีประเด็นการเหยียดเชื้อชาติที่ฝังรากลึกในระบบตำรวจ และสังคมของอเมริกันในภาพรวม ขณะที่นักการเมืองฝ่ายขวา และสื่อพยายามเอาเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมบางส่วนปล้นสะดม ทำลายทรัพย์สินมาตีแผ่ในวงกว้างเพื่อทำลายความชอบธรรมของผู้ชุมนุม กลุ่มเดียวกันที่กล่าวอ้าง “ศีลธรรม” เช่นนี้กลับปกป้องระบบตำรวจที่เหยียดเชื้อชาติและใช้ความรุนแรงกับประชาชนคนชั้นล่าง และคนผิวสี พวกนักศีลธรรมคนดีปล่อยให้คนผิวดำหลายชีวิตต้องตายโดยน้ำมือตำรวจ โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกับคนชนชาติอื่นๆ พวกเขาละเลยข้อเท็จจริงที่ว่า ระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา มีรากฐานมาจากชนผิวขาวที่ล่าอาณานิคม และปล้นสะดมคนพื้นเมืองต่างชนชาติไปทั่วโลก (มีต่อฉบับหน้า)