โดย ช่อผกา
การดีเบตระหว่างพรรคการเมืองดำเนินไปอย่างดุเดือดในหลากหลายประเด็นสำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง โดยการดีเบตที่นับว่าดุเดือดมากเวทีหนึ่งคือการดีเบตที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีแรงงาน ที่ลุกขึ้นชี้หน้า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกล เสียงในโซเชี่ยลมีเดียวิเคราะห์ถกเถียงกันไปในประเด็นที่เกิดขึ้นในเวทีดีเบตอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมาภายใต้การถกเถียงต่างๆ หลายความเห็นชี้ประเด็นของการดีเบตครั้งนั้นว่า “เพราะแบบนี้ไงต่างจังหวัดถึงไม่เจริญ เพราะคนจนคนต่างจังหวัดโง่ เลือกการเมืองผลประโยชน์แบบเก่า” หรือแม้กระทั่งข้อถกเถียงล่าสุดที่พึ่งเกิดขึ้นคือเรื่องการซื้อเสียง ที่หลายคนมองว่าคนจน คนต่างจังหวัดถูกหลอก ใครให้เงินไปก็จะไปกาพรรคนั้น ไม่มีอุดมการณ์
การโจมตีการเมืองอุปถัมภ์ด้วยมุมความคิดแบบคู่ตรงข้ามมีขาว-ดำของพรรคก้าวไกลและอีกหลายๆพรรค ไม่ว่าจะโดยบังเอิญหรือตั้งใจ เป็นการตอกย้ำวาทกรรมว่าคนชนบท คนต่างจังหวัด คนชั้นล่างถูกครอบงำหรือบงการโดยระบบอุปถัมภ์แบบชี้ถูกเป็นถูก ชี้ผิดเป็นผิด ส่วนคนชั้นกลางในเมือง มีเหตุผล มีความคิดอิสระ มีคุณธรรมในการเลือกวิจารณ์นโยบายพรรคการเมืองต่างๆ วาทกรรมนี้เป็นหนึ่งในวาทกรรมที่ม็อบ กปปส.นำมาใช้อย่างกว้างขวางในช่วงที่พยายามลากรัฐประหารมาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท้วมท้นจากคนต่างจังหวัดในปี 56-57 เพื่ออธิบายว่าตัวเอง “มีความเป็นคนมากกว่า” “มีการศึกษาสูงกว่า” สิทธิในการเลือกตั้งของตัวเองจึงควรมีมากกว่าคนต่างจังหวัด หรือเลยไปถึงขั้นให้ประชาชนมีการสอบวัดก่อนที่จะมีสิทธิเลือกตั้ง ยังไม่นับการหล่อหลอมภาพลักษณ์ของคนชั้นล่าง คนต่างจังหวัดผ่านวัฒนธรรมภาพยนต์ ละคร ที่ทำให้คนชนชั้นกลางและล่างบางส่วนก็ขานรับกับวาทกรรมนี้เพื่อไม่ให้ตัวเองเป็นหนึ่งในคนที่ถูกทำให้ “เป็นอื่น” เพื่อปฏิเสธจิตสำนึกของชนชั้นตัวเอง ผลิตซ้ำภาพคนชนบทโง่จนเจ็บ สะท้อนว่ามีพรรคการเมืองแบบที่มองว่าการที่ประชาชนเลือกคนที่ให้ผลประโยชน์คือ การขายเสียง อยู่ ในขณะที่กลับกัน อีกฝั่งนึงรู้ว่าสิ่งที่จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกคือ ผลประโยชน์ที่เขาจะได้รับ
การเมืองโดยพื้นฐานเป็นเรื่องของ“ผลประโยชน์” ซึ่งดูจะเป็นคำแสลงสำหรับคนชั้นกลางในเมืองที่มองการเมืองบนฐานจริยธรรม แต่ไม่ว่าจะสร้างวาทกรรมมาฉาบการเมืองให้สวยหรูอย่างไร โดยรากฐานของการเมืองคือการมาคุยกันว่า ผลประโยชน์ทั้งหมดของประเทศ เราจะแบ่งไปทำอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อนจนยากเกินทำความเข้าใจ ซึ่งคนจน คนชนบทนั้น “เข้าใจ” และ “ใช้” การเลือกตั้งเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ที่เขาต้องการ เช่น การคมนาคมขนส่ง การรักษาพยาบาล การช่วยเหลือประกันราคาพืชผลการเกษตร หรือโครงการต่างๆ สิ่งนี้คือผลประโยชน์ที่คนชนบทอยากได้ เขาก็เลือกคนที่เขาแน่ใจว่าจะดึงทรัพยากรนั้นมาให้เขาได้ ซึ่งขณะนั้นก็คือกลุ่มบ้านใหญ่ ปัจจัยที่ทำให้คนชั้นล่างหรือคนชนบทต้องพึ่งพาการเมืองแบบอุปถัมภ์ เพราะสังคมต่างจังหวัดที่ถูกแช่แข็งความเจริญมานานเพราะไม่มีอำนาจในการปกครองตนเอง ต้องรอรับงบประมาณและแผนพัฒนาจากส่วนกลาง รวมถึงการถูกซ้ำเติมด้วยการรัฐประหารที่วนเวียนมาตลอดสองทศวรรษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงรัฐประหารระบบอุปถัมภ์ยิ่งเติบโตง่ายขึ้นทำให้ตัดโอกาสการเข้าถึงความเจริญของคนต่างจังหวัด นอกจากนี้การดำเนินนโยบายเสรีนิยมของฝั่งอนุรักษ์นิยมทำให้สภาพเศรษฐกิจการเมืองไทยอยู่กันแบบระบบดิ้นรนกันเอง คนรวยก็ย่อมต่อยอดความรวย คนจนก็ดิ้นรนกันเอง และจะถูกด่าซ้ำถ้าหากพ่ายแพ้ในระบบทุนนิยมหรือยื่นมือไปขอความช่วยเหลือจากกลุ่มคนที่ไม่ถูกจริตคนชั้นกลางในเมือง
คนในเมืองก็ไม่ได้เลือกแบบมีเหตุผล มีคุณธรรมมากกว่าคนต่างจังหวัด แต่เพราะรูปแบบการเมืองที่พัฒนาก้าวไปไกลถึงจุดที่การเมืองบ้านใหญ่อาจไม่มีความสำคัญอีกต่อไปเพราะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการพัฒนามากที่สุด จนความเป็นบ้านใหญ่ไม่ได้จำเป็นกับคนเมืองเท่ากับที่จำเป็นกับคนต่างจังหวัด หรือในบางพื้นที่ก็พัฒนารูปแบบหน้าตาของสิ่งแลกเปลี่ยนกันในระบบอุปถัมภ์ให้ภายนอกดูต่างไปจากการพึ่งพาแบบเดิม เช่น การฝากเข้าทำงาน ฝากเข้าเรียน เป็นต้น ความย้อนแย้งคือเนื้อในก็ยังเป็นระบบอุปถัมภ์ที่คนในเมืองพูดว่าเกลียดแสนเกลียดเหมือนเดิม แต่ดูเหมือนว่าจริงๆแล้วเขาจะเกลียดมันก็ต่อเมื่อคนได้ประโยชน์จากมันเป็นคนชนบทหรือคนต่างจังหวัดที่ไม่ใช่พวกตัวเอง
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาการเมืองบ้านใหญ่ด้วยวิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดนอกจากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ในการสลายการเมืองบ้านใหญ่ คือทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้ภาคประชาชนเข้มแข็งจนการเมืองนโยบายสลายการเมืองบ้านใหญ่ คนต่างจังหวัดที่เข้าไม่ถึงทรัพยากร สามารถเข้าถึงมันได้ด้วยตัวเอง หรือเข้าถึงได้เร็วเท่าที่เขาควรได้ เช่น มีปัญหาถนนแถวบ้านไปตามคนที่มีหน้าที่มาซ่อมมาดูแล้วแก้เสร็จในหนึ่งอาทิตย์ หากระบบมีประสิทธิภาพ ทำให้คนชนบทรู้สึกว่ามันเป็นประชาธิปไตยที่เขาจับต้องได้ เขาก็ไม่ต้องพึ่งพาการเมืองบ้านใหญ่ คือ ถึงวันนั้นก็จะเป็นวันที่คนในจังหวัดเลือกพรรคจากนโยบายไม่ใช่แค่เพราะบ้านใหญ่อยู่พรรคไหน และพูดถึงที่สุดเราต้องมีพรรคการเมืองของคนชั้นล่าง ที่เป็นปากเป็นเสียงแทนคนชั้นล่างจริงๆ
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้ถกเถียงเพื่อบอกว่าสิ่งนี้ถูก และควรมีต่อไป แต่เพื่อพูดว่าการใช้จริยธรรมทางการเมืองแบบชนชั้นกลางมาบีบคอคนที่ขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ คนที่หาเช้ากินค่ำ ว่าทำไมถึงไม่สุจริต ทำไมเอาแต่ผลประโยชน์ กับปัจเจกบุคคลโดยไม่ตั้งคำถามกับโครงสร้างที่ทำให้เกิดระบบการเมืองที่เหลื่อมล้ำแบบนี้ จะไม่ทำให้การเมืองบ้านใหญ่หรือการซื้อเสียงหายไปแม้ว่าจะอยากให้มันหายไปแค่ไหนก็ตาม ซ้ำร้ายมันยังไปลดทอนคุณค่าเสียงของคนชนชั้นล่างลงให้มีอำนาจต่ำลงไปกว่าที่เขาเป็นอยู่
อ้างอิง
ศุภเดช ศักดิ์ดวง (2556) บทความ สิริพรรณ : เบื้องหลังวาทกรรมซื้อเสียง…ทำไมคนชนบทถึงเป็นผู้ร้าย? จากเว็บอิศรานิวส์