Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

วิจารณ์นโยบายแก้ฝุ่น : รถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลเป็นทางออกจริงหรือ

โดย แพรพลอย และ ช่อผกา

ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนโยบายด้านการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอขึ้นมาเป็นนโยบายหลัก เนื่องจากปัญหาฝุ่นยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมาและทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากการขาดความกระตือรือร้นที่จะตอบสนองต่อปัญหาของฝ่ายรัฐบาล (เช่นเดียวกับหลาย ๆ ปัญหาในประเทศไทย) อย่างไรก็ตามนโยบายที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอมีความหลากหลายไปตามเฉดการเมืองของแต่ละพรรค มีตั้งแต่ห้ามการเผาไร่อย่างจริงจัง ซึ่งเป็นนโยบายที่จะไม่ได้ช่วยลดปัญหาฝุ่นมาก เนื่องจากคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งจากภาวะโลกร้อนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดไฟป่าที่ควบคุมได้ยากบ่อยขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย การติดโซลาร์รูฟฟรีทุกบ้าน ตรวจเข้มรถปล่อยควัน โรงงานปล่อยมลพิษ และไซต์งานก่อสร้าง ไปจนถึงเข้าไปสนับสนุนการเปลี่ยนรถยนต์ดีเซลเป็นรถไฟฟ้า ทำไทยเป็นศูนย์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และดันราคาลงให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

การผลักดันให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาใช้ขนส่งสาธารณะในประเทศนี้ มีเรื่องที่ต้องทำมากกว่าแค่การมี “วันขนส่งฟรี” เพื่อรณรงค์ให้คนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว คนไทยไม่ได้นิยมใช้รถส่วนตัวเพียงเพราะขนส่งสาธารณะของไทยราคาพุ่งสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ แต่คนไทยต้องมีรถยนต์เพราะจำเป็น เนื่องจากระบบผังเมืองของไทยนั้นส่งเสริมความเหลื่อมล้ำ จากการที่ความเจริญและงานกระจุกตัวอยู่แต่ในใจกลางเมือง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยในใจกลางเมืองสูงลิบลิ่ว และเป็นสาเหตุที่ผลักคนรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางให้ออกไปอยู่ชานเมืองในพื้นที่ที่บ้านมีราคาถูกกว่า มีความหนาแน่นของประชากรต่ำกว่า และขาดแคลนระบบขนส่งสาธารณะที่ดีและครอบคลุม ปัจจัยเหล่านี้บีบให้ประชาชนต้องหันมีรถยนต์ส่วนตัวเพื่อไปทำงานในเมือง และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนตัวที่ไม่ลดลง และสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาเรื่องฝุ่นหรือมลพิษจากรถยนต์ส่วนตัวจะไม่มีวันหายไปจากประเทศไทยง่าย ๆ เช่นกันหากไม่แก้ปัญหาตรงจุดนี้

และด้วยเหตุนี้หลายพรรคการเมืองก็ได้เสนอนโยบายแก้ปัญหาฝุ่นด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวไฟฟ้า เนื่องจากเป็นรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล จริงอยู่ที่ตัวเครื่องยนต์ไฟฟ้าปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล แต่การทำเหมืองลิเธียม อะลูมิเนียม และโคบอลต์ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นกระบวนการที่ทำลายสิ่งแวดล้อมและก่อมลพิษจำนวนมาก ตามการรายงานของสำนักข่าวเรอพอแตร์ (Reporterre) ในปี 2018 กว่า 180,000 เฮกเตอร์ของบึงน้ำเค็มของบริเวณที่ราบสูงของเทือกเขาแอนดีสในประเทศโบลิเวียกำลังจะถูกทำลายลงเพื่อให้บริษัทแอลซีเอส (LCS) ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติแคนาดาได้กำไรจากการทำเหมืองแร่ลิเธียม เนื่องจากบึงน้ำเค็มนี้เป็นสถานที่เก็บลิเธียมซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของแบตเตอร์รี่ที่ใช้ทั้งกับคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ และรถยนต์ไฟฟ้า โดยในรถเทสล่าหนึ่งคันนั้นใช้ลิเธียมมากถึง 15 กิโลกรัม ในขณะที่จักรยานไฟฟ้าหนึ่งคันใช้ลิเธียมเพียงแค่ 300 กรัม นอกจากนี้ในปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าทั้งจากภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมหาศาล แต่อุตสาหกรรมแร่ลิเธียมนั้นกลับโตไม่ทันขนาดของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ราคาลิเธียมดีดตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 432% ภายในช่วงปี 2021-2022 เพียงปีเดียวตามการรายงานของนิตยสารไทม์ ซึ่งราคาแบตเตอร์รี่ที่สูงขึ้นส่งผลให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าสูงขึ้นตามไปด้วย และนอกจากนี้การสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์ส่วนตัวนั้นยังก่อให้เกิดปัญหารถติด ปัญหามลพิษทางเสียง และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการสร้างที่จอดรถยนต์และทางด่วนเพื่อระบายรถ และนั่นก็หมายความว่านอกจากค่าประกันรถแล้ว ค่าทางด่วนก็เป็นอีกต้นทุนหนึ่งในการมีรถยนต์

ในปี 2014 นายกเทศมนตรีเมืองดันเคิร์กได้เริ่มต้นโครงการเปลี่ยนผังเมืองใหม่ จากเดิมที่เมืองได้รับการฟื้นฟูขึ้นหลังถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและมีการออกแบบผังเมืองให้ส่วนที่อยู่อาศัยกับส่วนอุตสาหกรรมอยู่ห่างกันและเชื่อมกันด้วยทางด่วน ซึ่งเป็นการออกแบบเพื่อรถยนต์ส่วนตัว เป็นเมืองที่รองรับระบบขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมทั้งเมืองและฟรี โดยใช้งบประมาณจากการเพิ่มการจัดเก็บภาษีบริษัทภายในเมือง ภายในเวลา 4 ปี โครงการรถเมล์ฟรีแบบไม่มีเงื่อนไขก็เกิดขึ้นจริงในปี 2018 ผลปรากฏว่าชาวเมืองดันเคิร์กตัดสินใจขายรถยนต์ส่วนตัวทิ้งและหันมาใช้ขนส่งสาธารณะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้จริง ตัวอย่างเช่น นางมารีน หนึ่งในชาวเมืองดันเคิร์กที่เปลี่ยนมาใช้รถเมล์ไปทำงานทุกวันกล่าวกับชาเลนจ์นิตยสารธุรกิจรายหนึ่งของฝรั่งเศสว่าโครงการนี้ช่วยให้ประหยัดเงินได้ 370 ยูโรหรือราว 14,000 บาทต่อปีซึ่งเป็นค่าบริการขนส่งสาธารณะที่เคยจ่าย และยังช่วยลดค่าน้ำมันและค่าประกันรถยนต์เนื่องจากใช้รถยนต์น้อยลง การที่ผู้โดยสารต้องเดินมาขึ้นรถเมล์ยังทำให้ร้านค้าในเมืองมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้น และได้ช่วยลดมลภาวะในเมืองทั้งทางอากาศและทางเสียง หรือในเมืองปอนเตเบดราทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสเปนที่นายกเทศมนตรีได้ตัดสินใจเปลี่ยนผังเมืองให้กลายเป็นเมืองปลอดรถยนต์ตั้งแต่ปี 1999 ด้วยการประกาศห้ามไม่ให้รถยนต์ที่ไม่จำเป็นเข้ามาในเขตตัวเมือง เปลี่ยนถนนสำหรับรถยนต์ให้กลายเป็นถนนสำหรับคนเดิน และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมทั่วเมือง ตามการรายงานของเทศบาลเมืองปอนเตเบดราในปี 2018 ค่ามลภาวะภายในเมืองปอนเตเบดราลดลงถึง 67% อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นศูนย์นับตั้งแต่ปี 2009 และปอนเตเบดรายังได้ชาวเมืองเพิ่มขึ้นมากถึง 12,000 คน และด้วยความที่ประชากรในเมืองเพิ่มขึ้นนี้เองก็ทำให้มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นและมีธุรกิจเอสเอ็มอีเกิดเพิ่มขึ้นในเมือง

จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผังเมืองเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบขนส่งสาธารณะที่ฟรีและครอบคลุมทั้งตัวเมืองเพื่อลดปริมาณรถยนต์และลดการปล่อยมลพิษเป็นไปได้และมีผลดีหลายประการ จะดีกว่าไหมถ้ารัฐหันไปส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วยการพัฒนาขนส่งสาธารณะให้ฟรีและครอบคลุมทั่วไทยด้วยงบประมาณจากการเก็บภาษีบริษัทแทนการลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าส่วนตัวที่ปัจจุบันเรารู้อยู่แล้วว่ามีผลเสียอย่างไร จะดีกว่าไหมถ้าประเทศไทยมีรถไฟที่สะอาด รวดเร็ว และฟรีเชื่อมแต่ละจังหวัด ตัดผ่านทัศนียภาพอันสวยงามของไทยตั้งแต่เหนือจรดใต้แทนการสนับสนุนให้คนไทยนั่งคุดคู้อยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าคันเล็กและเผชิญกับอันตรายบนท้องถนนหรือขึ้นเครื่องบินเพื่อข้ามจังหวัดโดยไม่ได้เห็นธรรมชาติอันสวยงามของไทย จะดีกว่าไหมถ้าเราทำรถไฟให้สวยงามเหมือนในสวิตเซอร์แลนด์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ขนส่งสาธารณะฟรียังช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเคลื่อนที่ ทำให้คนจนได้ท่องเที่ยว และยังเป็นอีกหนึ่งในวิธีที่ช่วยสนับสนุนให้คนไทยหันมาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันประเทศไทยการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะจะถือว่าค่อนข้างสายเมื่อเทียบกับหลายประเทศบนโลก แต่ในความสายนี้ก็ยังมีข้อดีอยู่ตรงที่เราสามารถเรียนรู้ความผิดพลาดของประเทศอื่น และสามารถเลือกนำแต่สิ่งที่ดีมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเรา

อ้างอิง
1. นิธิ นิธิวีรกุล.(2562).ความเหลื่อมล้ำในมิติผังเมือง.สืบค้นเมื่อ 2 พ.ค. 2566.จากเว็บเวย์แม็กกาซีน
2. Emma Donada. (2018). Est-ce qu’une ville espagnole est sans voiture depuis 19 ans. สืบค้นเมื่อ 6 พ.ค. 2566 จากเว็บไซต์ Libération

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com