โดย ขนมปัง และ วัฒนะ วรรณ
คาร์ล มาร์ก เคยอธิบายไว้ในหนังสือว่าด้วยทุนว่า ในกระบวนการผลิตทุนนิยมจะต้องใช้แรงงานฝีมือจำนวนหนึ่งที่มีทักษะซับซ้อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมูลค่า แรงงานที่มีฝีมือสูงมี “พลังการทำงาน” ที่เข้มข้นกว่าคนที่ไม่มีฝีมือ และความแตกต่างนี้ถูกสะท้อนในอัตราค่าจ้างที่ต่างกัน ผลคือนายทุนทั้งระบบพยายามลดการศึกษาฝึกฝนฝีมือของแรงงานส่วนที่ไม่ต้องใช้ฝีมือ
ดังนั้นชนชั้นปกครองในระบบทุนนิยมจะสนับสนุนการศึกษาระดับสูงให้บางคนเท่านั้น ที่เหลือให้การศึกษาพื้นฐาน นี่คือที่มาของการสอบนักเรียน และการแบ่งประเภทโรงเรียนและวิทยาลัย(ใจ อึ๊งภากรณ์)
ปัจจุบันการศึกษาไทยในโรงเรียนยังเป็นการเรียนที่ยาวนานถึงวันละ 7-8 คาบ คาบละ 50-60 นาที เน้นการท่องจำ ส่งผลให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่ายและเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจ การเรียนแบบนี้ต้องเรียนไปเพื่อสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อให้จบมาแล้วมีงานที่ค่าตอบแทนสูงกว่าคนอื่นๆ ยังไม่รวมถึงการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งเราจะเห็นว่าระบบการศึกษาแบบนี้ไม่ได้รองรับทุกคน การศึกษาในระบบทุนนิยมเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ แต่ถูกทำให้มองว่าเป็นเรื่อง “ธรรมชาติ” คนส่วนน้อยจะฉลาดเป็นพิเศษ คนส่วนหนึ่งฉลาดปานกลางกลายเป็นแรงงานฝีมือที่มีทักษะสูง และคนส่วนใหญ่โง่กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นระบบการศึกษาและการสอบในระบบทุนนิยมตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้ทำคนส่วนใหญ่ล้มเหลว โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนการศึกษาทั้งให้มีระบบประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งจะประหยัดงบประมาณไม่ต้องเก็บภาษีจากนายทุนเพิ่ม
ในการเลือกตั้งทั่วไป 2566 พรรคก้าวไกลมีนโยบายกระจายอำนาจให้โรงเรียนเติบโตได้ภายใต้ท้องถิ่น เช่น การออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนที่สอดคล้องต่อความต้องการของผู้เรียน ลดการควบคุมจากส่วนกลาง ให้โรงเรียนออกหลักสูตรเองกับชุมชน ลดวิชาบังคับพื้นฐาน ลดจำนวนชั่วโมงเรียนและคาบเรียนลง รวมไปถึงสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ทุกคนเข้าถึงและเรียนได้ไม่จำกัด และมีบริการจับคู่กับผู้ประกอบการและจัดหางาน จริงอยู่ที่ระบบการศึกษาในโรงเรียนควรลดเวลาเรียน วิชาบังคับ และให้ผู้เรียนเลือกวิชาเรียนเองตามใจ แต่ว่าจะเลือกเรียนอะไรก็ได้จริงหรือ?
สิ่งที่กำหนดว่านักเรียนจะต้องเรียนอะไรนอกจากจะมีหลักสูตรที่รัฐออกแบบแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดจะเป็นระบบการจ้างงานในสังคมซึ่งจะกำหนดและสร้างแรงกดดันให้กับแรงงานรุ่นใหม่ว่าจะต้องเรียนอะไรแบบไหน สถาบันการศึกษาจึงต้องสร้างแรงงานที่นายทุนต้องการจ้างงาน นักเรียนนักศึกษาต้องเรียนในสิ่งที่เมื่อจบไปแล้วมีโอกาสที่จะมีงานทำที่ดี ค่าจ้างสูงว่าค่าเฉลี่ยของสังคม และถ้าไม่มีงานทำก็อดตาย ดังนั้น ยิ่งการมีชีวิตอยู่รอดถูกผูกไว้กับระบบการจ้างงานในระบบทุนนิยมที่ถูกควบคุมโดยคนส่วนน้อยมากเท่าไหร่ ความมีเสรีภาพในการเลือกที่จะศึกษาตามที่ตนเองสนใจก็จะถูกจำกัดมากเท่านั้น นอกจากนั้นการพูดถึงระบบการศึกษาที่ดีที่ทุกคนได้รับมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนใกล้บ้านได้ ไม่มีการสอบแข่งขันจัดอันดับเพื่อเรียนต่อ มัธยม มหาวิทยาลัย คัดเลือกเฉพาะคนส่วนน้อยและทำให้คนส่วนใหญ่ล้มเหลว ไม่เพียงพอ จะต้องมองเรื่องอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการเรียนด้วย เช่น ถ้าครอบครัวยากจน เด็กๆ ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน หรือต้องอยู่บ้านร่วมกันหลายคนในพื้นที่เล็กๆ คับแคบ ไม่มีเครื่องปรับอากาศในฤดูร้อน เด็กๆ จะมีเวลา มีสมาธิเพียงพอ ที่จะศึกษาหาความรู้ได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพรรคการเมืองต่างๆ จริงใจต่อการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความเท่าเทียมกันจริงๆ หรือไม่ หรือเพียงแค่ปฏิรูปเล็กๆ น้อยๆ ทำให้ระบบทุนนิยมน่ารักนิดหน่อย โดยที่ไม่กล้าแตะต้องผลประโยชน์กลุ่มทุน