Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

วิจารณ์นโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สามารถแแก้ไขความเหลื่อมลํ้าได้จริงหรือ

โดย นวปัญญา และ ศ.ภ.ว. ทิพย์แก้ว

ในช่วงนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปปี 66 มีพรรคหลากหลายพรรคชูนโยบายต่างๆ มากมายที่น่าสนใจ และหนึ่งในนั้นคือ นโยบายที่เกี่ยวกับประเด็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เราจะไม่สามารถกล่าวถึงความมีประชาธิปไตยที่มากขึ้นได้เลย หากไม่พูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางไปยังพื้นที่ต่างๆ ให้ท้องถิ่นมีความสามารถในการบริหารตัวเองซึ่งนั่นทำให้ศักยภาพในพื้นที่นั้นๆ มีความสามารถเท่าเทียมกันกับเมืองที่เป็นตัวกระจุกความเจริญไว้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของกำลังทางการผลิต ระบบการศึกษา หรือระบบสาธารณูปโภคและสภาพความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น ต้องทำให้สิ่งเหล่านี้กระจายไปสู่คนทุกคนอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน โดยให้คนในพื้นที่เป็นคนบริหารและตัดสินใจกันเอง เพราะคนในพื้นที่ย่อมรู้ความต้องการของพวกเขาเองดีกว่าคนภายนอกอย่างแน่นอน

โดยในการวิจารณ์ในครั้งนี้จะยกตัวอย่างนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เนื่องจากเป็นพรรคที่มีความก้าวหน้าระดับหนึ่ง รวมกับเป็นพรรคที่มวลชนให้ความสนใจมาก ซึ่งนโยบายที่หยิบยกมา ก็คือ นโยบายเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด โดยเสนอว่า จัดให้มีประชามติภายใน 1 ปี เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบหรือไม่ ให้มีการยกเลิกผู้ว่าฯแต่งตั้ง เพื่อให้ทุกจังหวัดมีผู้บริหารสูงสุดที่มาจากการเลือกตั้ง หากประชามติได้รับความเห็นชอบจากประชาชน จะนำไปสู่ การเปลี่ยนโครงสร้างผู้บริหารจังหวัด จากเดิมที่มีผู้บริหารจังหวัด 2 คน (นายก อบจ. กับ ผู้ว่าราขการฯ)จะเหลือเพียงแค่ 1 คนคือ ผู้ว่าราชการฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังเสนอการจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน โดยสัดส่วนงบส่วนกลางและท้องถิ่นคือร้อยละ 50:50 แต่การแบ่งสัดส่วนแบบนี้จะทำให้ชุมชน หรือจังหวัดขนาดเล็กได้รับงบประมาณน้อยในการพัฒนา แล้วอย่างนี้ความเหลื่อล้ำจะหายไปจริงอย่างนั้นหรือ นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีการเพิ่มรายได้ท้องถิ่นจากภาษี ค่าธรรมเนียม ให้อิสระท้องถิ่นได้ตัดสินใจใช้งบประมาณและบุคลากรเองได้

ซึ่งนโยบายการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ก้าวไกล หรือแม้แต่พรรคอื่นๆที่ได้เสนอมานั้นในด้านหนึ่งแล้วมันเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม ที่จะมอบอำนาจให้ท้องถิ่นสามารถปกครองตนเองได้ในระดับหนึ่ง และประสิทธิภาพที่ได้จากการจัดสรรงบประมาณในการบริหารท้องถิ่นที่มีหลายระดับ ในแง่ของการเมืองเป็นเรื่องที่ดี แต่ในที่สุดแล้วในด้านที่ต้องผลักดันไปข้างหน้านั้น มันยังไม่เพียงพอ ควรจะต้องกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจด้วย เช่น การปฏิรูปที่ดิน การสนับสนุนสหภาพแรงงาน เพื่อต่อรองการจ้างแรงงาน การสร้างสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ หรือขยายระบบเลือกตั้งไปสู่ศาล ตำรวจ ตำแหน่งสาธารณะทุกตำแหน่ง กรรมการบริหารโรงเรียน โรงพยาบาล เทศบาล สื่อมวลชนและรัฐวิสาหกิจ แล้วควรใช้ระบบบริหารแบบ “ไตรภาคี” ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนสหภาพแรงงานที่ให้บริการ และฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่ก็ยังไม่เห็นพรรคการเมืองใดกล้าที่จะประกาศรูปธรรมออกมาอย่างชัดเจนว่า จะทำไปในรูปแบบดังที่กล่าวมา การจัดเก็บงบประมาณที่จะเพิ่มให้ท้องถิ่นก็ไม่ชัดเจน ว่าจะก็บในอัตราก้าวหน้าหรือไม่ คือเก็บนายทุนในปริมาณมาก และเก็บจากกรรมาชีพในปริมาณน้อย ในตอนนี้เห็นเพียงแต่จะเพิ่มการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ซึ่งนั้นเป็นการเพิ่มภาระให้กับชนชั้นกรรมาชีพ แล้วไม่เห็นว่านโยบายเหล่านั้นจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างสมบูรณ์ เป็นเพียงแค่คำโกหกสวยหรูคำโตที่เหล่านายทุนนักการเมืองนั้นมอบให้

ในมุมมองของมาร์คซิสต์โดยประมาณจากหนังสือว่าด้วยทุน โดยสภาพระบบทุนนิยมทำให้ท้องถิ่นเจริญน้อยกว่าเมืองเพราะการกระจายตัวของทุน ในกระบวนการผลิตของทุนนิยมต้องการแรงงานฝีมือที่ทำงานซับซ้อนเพียงบางส่วน โดยแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงานที่ซับซ้อนนัก ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับความสามารถของแรงงานแต่แรก เมื่อเป็นแบบนั้น การลงทุนในสวัสดิการต่างๆ สาธารณูปโภค และระบบการศึกษาในท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่เกินจำเป็นในมุมมองของชนชั้นนายทุน เพราะจะทำให้ต้องมีการเก็บภาษีเพิ่ม ทำให้กำไรลดลง

การเมืองไทยที่ขาดพรรคการเมืองของประชาชนมานานนับตั้งแต่ขบวนการสังคมนิยมถูกปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และพรรคคอมมิวนิสต์ไทยล่มสลายในเวลาต่อมา ทำให้คนในสังคมไม่มีทางเลือกนอกจากหันไปพึ่งพิงพรรคการเมืองของบรรดานายทุนทั้งหลาย แต่เราต้องไม่ลืมว่าถึงแม้จะเป็นพรรคนนายทุน แต่พวกเขาต้องเอาใจคนจนด้วยท่ามกลางวิกฤติต่างๆ เพื่อลดความไม่พอใจ เราจึงเห็นนโยบายที่ให้ประโยชน์กับคนจนจากพรรคไทยรักไทย/เพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ซึ่งมันให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจต่อผู้คนได้ แต่มันไม่พอที่สร้างความเท่าเทียมจริง

อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่มีนโยบายเป็นประโยชน์กับคนจนกลับต้องถูกยุบรัฐบาลและถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ด้วยการสนับสนุนจากการปลุกระดมมวลชนฝ่ายขวา ดั่งเช่นในยุคพรรคไทยรักไทย ดังนั้นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรอบนี้หากชนะเลือกตั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ที่หาเสียงไว้ โดยเฉพาะนโยบายที่ให้ประโยชน์คนจน และลดทอนผลประโยชน์ของชนชั้นนำ การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการก็จะมีแต่ขบวนการมวลชนเท่านั้นที่จะต้านทานได้ โดยการสร้างความร่วมมือกันในระดับฐานรากของมวลชนในลักษณะโครงสร้างประชาธิปไตย เช่น ขบวนการแรงงาน ขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ และพรรคการเมืองของภาคประชาชน เพื่อปรึกษาร่วมมือปกป้องประชาธิปไตย และต่อสู้เรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด

ข้อเสนอเบื้องต้นในตอนนี้ขององค์กรสังคมนิยมแรงงานที่เกี่ยวกับการบริหารสังคมรูปแบบใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยได้แก่ 1.การบริหารราชการแผ่นดินควรลดให้มีเพียง 2 ส่วนคือ การปกครองส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ซึ่งทั้งสองควรมาจากการเลือกตั้ง ควรยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคที่เป็นเครื่องมือของส่วนกลาง เพื่อกระจายอำนาจให้แก่ประชาชน 2.ควรนำระบบบริหาร “สามส่วน” เข้ามาใช้ในองค์กรสาธารณะ ประกอบด้วย (1) คนจากรัฐบาลส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้ง (2) คนที่ได้รับการเลือกตั้งจากชุมชนที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลได้ผลเสีย และ(3) คนที่เป็นตัวแทนผู้ที่ทำงานในองค์กรเหล่านั้น โดยเฉพาะผู้แทนของสหภาพแรงงาน โดยที่ทั้งสามส่วนมีผู้แทนเท่ากัน 3.ต้องมีการเพิ่มอำนาจให้แก่ชุมชนในการตัดสินใจในเรื่องทรัพยากร โครงการของรัฐ เช่น เขื่อน โรงไฟฟ้า เหมืองแร่ ท่อก๊าซ ถนน ฯลฯ โดยใช้ระบบไตรภาคีดังกล่าว ควรเพิ่มอำนาจให้ชุมชนในการรักษาความปลอดภัย และควบคุมกำกับการทำงานของตำรวจ และ 4.คัดค้านการทุจริตของข้าราชการทุกระดับ อำนาจและอิทธิพลนอกระบบ

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com