Design a site like this with WordPress.com
เริ่มได้

รัฐไทยใต้ร่มเงาทุนนิยม: มองนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านสายตามาร์กซิสต์

โดย รุเธียร และ แล้วพลอยไพลินจะเป็นไหม

ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องป่าวประกาศนโยบายที่จะปลุกกระแสการเลือกตั้งในปี 2566 ปลุกความหวังของประชาชนให้หวนกลับมาอีกครั้งหลังจากตกอยู่ภายใต้สภาวะซบเซาจากระบอบเผด็จการและความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา นโยบายต่าง ๆ ของพรรคการเมืองทุกพรรคถูกยกขึ้นมาโต้เถียงเพื่อเป็นหมุดหมายของสังคมที่กำลังจะเปลี่ยนไปหลังการเลือกตั้ง สำหรับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งจะผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่ปริมณฑลทางเศรษฐกิจที่แตกต่างออกไป ก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายสำหรับพรรคฝั่งประชาธิปไตยที่น่าจับตามอง ตัวอย่างเช่นในกรณีของพรรคก้าวไกล เพื่อไทย และไทยสร้างไทย ต่างก็ต้องการที่จะลดบทบาทของรัฐลงและกระตุ้นให้เอกชนแข่งขันกันได้มากขึ้น ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย และให้คำมั่นสัญญาที่รัฐจะไม่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจแต่จะเป็นหุ้นส่วนของภาคเอกชนที่จะขับเคลื่อนทุกกลไกไปด้วยกัน ในกรณีของก้าวไกลยังมีข้อเสนอเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้าได้อย่างเสรีเพื่อกระตุ้นการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคเอกชน โดยรัฐเป็นเพียงผู้ให้บริการสายส่งเท่านั้น ในขณะที่ฟากฝั่งของพรรคเผด็จการอย่าง รวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐยังคงหมกมุ่นอยู่กับตัวเลขของ GDP ที่ขยายตัวจากการลงทุนของกลุ่มทุนไร้คุณภาพ สนับสนุนการเกิดของนิคมอุตสาหกรรม เช่น การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์อย่าง EEC (พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม พรรคภูมิใจไทยที่ทำทีสนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยยกสมุนไพรกัญชาเป็นดาวเด่น โดยอ้างเรื่องการเชื่อมอุตสาหกรรมภาคเกษตรและอุตสาหกรรมทางการแพทย์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น และความเหลื่อมลํ้าทางรายได้จะลดลง แต่ในความเป็นจริงกลับทำให้กัญชาเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นและไม่ใช่การใช้เพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์

เราจะเห็นกรอบของระบบทุนนิยมได้อย่างชัดเจนจากนโยบายของทุกพรรคการเมือง ทั้งการปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันในนามของเสรีภาพ และการหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความมั่งคั่ง แต่ความงดงามของกลไกตลาดนั้นจะสร้างประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่และสังคมได้จริงหรือ เราได้เห็นตัวอย่างในช่วงที่ผ่านแล้วว่าการที่รัฐบาลรุ่นต่อรุ่นแปรรูปกิจการสาธารณะแทบทุกอย่างแม้แต่การศึกษาให้เอกชนควบคุมนั้นผลักภาระให้กับประชาชนมากแค่ไหน และถ้าเรามองจากเลนส์แว่นของเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์ย่อมมีข้อโต้แย้งมากมายกับนโยบายดังกล่าว คือ (1) ระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยให้เป็นไปเองเหมือนคนตาบอดคลำทางล้วนมีจุดจบอยู่ที่วิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าและการผงาดขึ้นของทุนผูกขาดเสมอ ภาพฝันของตลาดเสรีจะไม่มีวันเป็นจริง ปลาใหญ่กินปลาเล็กต่างหากที่เป็นจริง (2) เอกชนไม่เคยแสวงหาอะไรอย่างอื่นนอกจากกำไรและการสะสมความมั่งคั่ง การผลิตในร่มเงาของทุนนิยมจึงไม่เคยเป็นไปเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง แต่เป็นไปเพื่อคนไม่กี่กลุ่มเท่านั้นโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดที่จะตามมา หนึ่งในนั้นคือสิ่งแวดล้อมที่ล่มสลาย ในขณะที่ผู้ผลิตสร้างมูลค่าอย่างชนชั้นกรรมาชีพคือผู้ที่ถูกขูดรีดเอาทุกสิ่งทุกอย่างไปหล่อเลี้ยงชนชั้นนายทุน (3) ข้ออ้างว่ารัฐเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของเอกชนเป็นเรื่องปาหี่ เราจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีกิจการที่รุ่งเรืองใดๆ ตั้งอยู่ได้โดยปราศจากสัมปทานจากรัฐเลย และอันที่จริง รัฐคือความรุนแรงโดยละม่อมที่เป็นไปเพื่อหล่อเลี้ยงการกดขี่ของชนชั้นปกครองต่อชนชั้นผู้ถูกปกครองเสมอมา แต่ถ้ารัฐนั้นถูกยึดกุมโดยมวลชน มันก็ย่อมตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของผู้ที่ยึดกุมมัน

ถึงแม้ว่านโยบายมากมายของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ที่ใฝ่ฝันต่อสังคมใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ใช่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของทหารและนายทุนอย่างที่เป็นอยู่ และแน่นอนว่าในสถานการณ์เฉพาะหน้า เราต้องสนับสนุนให้พรรคเหล่านี้ได้ไปต่อในรัฐสภา แต่ขณะเดียวกันเราก็ต้องไม่ลืมว่า ประชาธิปไตยภายใต้กรอบรัฐสภาไม่ใช่ทางออกอย่างแท้จริง มันเกิดมาจากชนชั้นใดก็ย่อมต้องรับใช้ชนชั้นนั้นอย่างที่เราเห็นได้จากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมตามแบบฉบับเสรีนิยมใหม่ คนที่จะได้ประโยชน์จากนโยบายดังกล่าวคือนายทุนหน้าใหม่ที่มีปัจจัยการผลิตมากพอ ในขณะที่นายทุนน้อยระดับล่างและชนชั้นกรรมาชีพจะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไม ขบวนการมวลชนและแนวคิดสังคมนิยมจึงต้องไปต่อ เพื่อผลักดันการเมืองใหม่ให้เกิดประโยชน์ต่อมวลชนอย่างแท้จริง ขบวนการมวลชนจะต้องนำพาแนวคิดสังคมนิยมมาต่อต้านกับนโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย สร้างการรับรู้ต่อสังคมในวงที่กว้างขึ้น ว่าแท้จริงแล้วทุนนิยมที่ผู้คนกำลังหลงไหล มิใช่ทางออกที่แท้จริงของการแก้ปัญหาที่ฝังรากอยู่ในสังคม แต่เป็นแนวคิดของสังคมนิยมต่างหาก

Advertisement

ถ้าเห็นด้วยกับแนวทาง “องค์กรสังคมนิยมแรงงาน” เชิญสมัครสมาชิก

บทความอื่น ๆ 

Create a website or blog at WordPress.com