โดย สมทรง ตรีแก้ว
ชนชั้นปกครองไทยออกแบบรูปแบบการปกครองบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยพวกเขาแบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ โดยอธิบายว่ารูปแบบการปกครอง 3 ฝ่าย เป็นการตรวจสอบและถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และให้สองรูปแบบแรกมาจากการเลือกตั้ง การอธิบายของชนชั้นปกครองเหมือนจะดูดี แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว มันล้วนตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง และมันเป็นการแบ่งแบบจอมปลอม
ฝ่ายตุลาการ เป็นเครื่องมือของชนชั้นปกครองที่ใช้ในการปกปักรักษาทรัพย์สิน และผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุน โดยมีผู้พิพากษาและกฎหมายเป็นหัวใจในการทำงานขับเคลื่อนให้ ซึ่งเรามักจะเห็นว่า ในบางคดีซึ่งเป็นคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลักทรัพย์สิน ไปจนถึงคดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ เช่น มาตรา 112 ระบบในกระบวนการยุติธรรมล้วนทำงานรับใช้อย่างแข็งขัน โดยเฉพาะในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ กลับปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายตุลาการทำงานพิทักษ์ผลประโยชน์ให้ชนชั้นผู้ปกครองอย่างแข็งขัน ในขณะที่คดีเกี่ยวกับการสังหารคนเสื้อแดงในปี 2553 กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด
ระบบยุติธรรมเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทย ที่คนส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนจนได้รับผลกระทบมากที่สุด แต่ได้รับการปฎิรูปน้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะเน้นแก้ไขกฎหมาย แต่การแก้ไขกฎหมายไม่ได้บ่งบอกว่าจะแก้ไขความยุติธรรมในสังคมไทยได้ ในการเลือกตั้งคราวนี้ คนส่วนใหญ่อยากเห็นการปฎิรูปศาลและกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก เพราะมีข้อเท็จจริงจำนวนมากที่เห็นได้ชัดว่า ฝ่ายตุลาการ และคนในกระบวนการยุติธรรมดำเนินคดีแบบบิดเบี้ยว จนถึงขั้นขนาดผิดเป็นถูก ไม่ผิดเป็นผิด ตัวอย่างพวกนี้ สามารถหาอ่านได้ตามสื่อต่าง ๆ ทั่วไป
พรรคเพื่อไทย เสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส คำนึงถึงหลักนิติธรรม “สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อไม่ได้” ปรับปรุงยกเลิกกฎหมายทั้งหมดตามความจำเป็นลดกฎหมาย ลดขั้นตอน ลดการใช้ดุลยพินิจ ส่วนพรรคก้าวไกลเสนอการรับรองผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร, ให้มีการตรวจสอบศาลโดยมีคณะผู้ตรวจการศาล, มีการการเพิ่มกลไกให้ประชาชนทบทวนการทำงานของศาล และริเริ่มกระบวนการร้องเรียนถอดถอนผู้พิพากษาและตุลาการได้ในบางกรณี
การที่ทั้งสองพรรคมีนโยบายในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม มันเป็นเรื่องที่ดี แต่ว่าเมื่อลงในรูปธรรมแล้ว ด้วยแนวทางแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมไม่อาจถูกตรวจสอบได้แต่อย่างใด แม้ว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้พิพากษาโดยให้รัฐสภาเป็นผู้แต่งตั้งการตรวจสอบ แต่นั่นไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดการปฎิรูปยุติธรรมอย่างแท้จริงได้
มาตรวัดว่าสังคมไทยจะมีกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง ฝ่ายตุลาการ และกระบวนการยุติธรรม ต้องเชื่อมโยงกับอำนาจประชาชน รูปธรรมคือ ประธานศาลฎีกา, อัยการสูงสุด ต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การพิจารณาคดีของศาลจะต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสิน รูปธรรมคือ ต้องมีคณะลูกขุนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินคดีร่วมกับผู้พิพากษาอาชีพ หรือควรมีการแก้ไขโทษคดีอาญาเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ลักทรัพย์ ไม่ควรเป็นความผิดใหญ่โตถึงขนาดต้องเอาคนไปขังคุก แต่ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลไม่มีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินคดีแต่อย่างใด ทำให้เราเห็นว่า ทั้งสองพรรคไม่สนใจในการปฎิรูปยุติธรรมอย่างแท้จริงและพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งกับมัน สาเหตุหลักคือ พวกเขาไม่ไว้ใจว่าประชาชนคนธรรมดาและต้องการใช้กระบวนยุติธรรมของชนชั้นปกครองในการปกครองและปราบปรามประชาชน
ปราศจากข้อเสนอเรื่องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาคดีร่วมกับผู้พิพากษาอาชีพแบบระบบลูกขุน กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริงไม่สามารถเกิดขึ้นได้